สวัสดีครับ ได้มาพบกันอีกครั้ง ในวันนี้ขอนำเสนอสุดยอดเรือพิฆาตลำหนึ่งที่เคยมีการสร้างกันมาบนโลกใบนี้ นั่นคือ USS.Arthur W. Radford (DDG-963)
ย้อนเวลาไปราว ๆ สามสิบกว่าปีที่แล้ว ผมเกิดมาในช่วงของวิกฤติการณ์ความขัดแย้งของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ (พคท.)และฝ่ายโลกเสรีประชาธิปไตย (รัฐบาลอเมริกันจ๋า) ในประเทศเราเองผมฟังข่าวทางวิทยุแทบทุกวัน (พ่อฟัง ผมต้องฟังไปด้วย) ช่วงนั้นโลกใบนี้ยังอึมครึมไปด้วยควันไฟแห่งสงครามไม่ว่าจะเป็นสงครามระหว่างคอมมิวนิสต์ในประเทศเรา สงครามฟอล์คแลนด์ ช่วงนั้นวิทยุออกข่าวทุกวัน (บ้านผมไม่มีทีวีครับ ที่บ้านใช้ตะเกียงด้วย) สงครามอิรัก-อิหร่าน สงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นช่วงที่พอดีกับผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือสงครามและสมรภูมิในห้องสมุดของโรงเรียน ภาพของเรือรบ นาวิกานุภาพ และกองเรือต่าง ๆ เริ่มผุดขึ้นประกอบเป็นข้อมูลในสมองของผม ทำให้ผมคลั่งเรือรบเอามาก ๆ ผมว่าใครที่ได้อ่านหนังสือพวกนี้ในสมัยนั่นก็ต้องคลั่งเครื่องบินและรถถังเหมือนที่ผมคลั่งเรือเป็นแน่ ถึงหนังสือมันจะราคาเล่มละ 15 บาทก็ตาม (แพงนะครับสมัยนั้น สีกันเซ่ขวดละ 30 บาท) ยิ่งคลั่งหนักตอนสงครามอ่าวเปอร์เซียร์ ที่ทำให้ผมไปโรงเรียนสายบ่อยมาก เพราะต้องนั่งฟังคุณลุงสุทธิชัย หยุ่น วิเคราะห์สถานการณ์ทุกวันตอนเช้า
ในช่วงนั้นมีเรือรบอยู่อีกลำหนี่งที่จำภาพติดตามาตลอด นั่นคือเรือพิฆาตชั้น Spruance นั่นเองครับ ปรากฎตัวในหนังสือและทีวีบ่อยมาก เหตุเพราะว่า เรือลำนี้มีบทบาทในสงครามที่ผ่าน ๆ มาอย่างมาก ครบเครื่องในการรบ 3 มิติ ทั้งระบบอาวุธนำวิถีพื้น-สู่-พื้น Harpoon ระบบอาวุธนำวิถีพื้นสู่อากาศ Sea Sparrow รวมไปถึงระบบปราบเรือดำน้ำ Asroc ทำให้ มันเป็นเรือที่น่ากลัวเอามาก ๆ ของฝ่ายอเมริกาในขณะนั้น
แต่ก็ยังมีเรือพิฆาตชั้น Spruance อีกลำหนึ่งที่แตกต่างออกไปจากพวก เนื่องจากมีโดมเรด้าร์ขนาดใหญ่อยู่บนดาดฟ้า แปลกตา ผมพยามเพียรค้นหาว่าเรือลำนี้คือเรืออะไร (สมัยนั้น internet ยังไม่เฟื่องฟู) จนได้ข้อมูลมาจนได้ เธอคือ USS.Arthur W. Radford นั่นเองครับ
USS.Arthur W. Radford เป็นเรือพิฆาตลำที่ 6 ในชั้น Spruance มีพี่น้องทั้งสิ้น 31 ลำ เธอถูกต่อขึ้นท่ามกลางบรรยากาศการสะสมอาวุธและการเผชิญหน้ากันในสงครามเย็นกับสหภาพโซเวียต วางกระดูกงูเมื่อวันที่ 31 มกราคม 1974 ขึ้นระวางประจำการวันที่ 16 เมษายน 1977 โดยชื่อเรือได้มาจากชื่อนายพลเรือ Arthur W. Radford แห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ ยาวตลอดลำ 161 เมตร กว้าง 16.8 เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ 8,040 ตัน ใช้เครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ ของเจเนรัลอิเล็กทริค รุ่น LM2500 จำนวน 4 เครื่อง ส่งกำลังไปขับเพลาใบจักร 2 เพลา ทำความเร็วได้สูงสุดถึง 32.5 น๊อต ระยะปฏิบัติการ 6 พันไมล์ทะเลที่ความเร็วมัธยัสถ์ (20 น๊อต)
ระบบอาวุธของเธอนั่น ประกอบไปด้วย
1.ระบบปืนใหญ่อเนกประสงค์ 127 มม. (5 นิ้ว) MK45 จำนวน 2 แท่น หัว-ท้าย
2.ระบบอาวุธนำวิถีพื้น-สู่-พื้น Harpoon 8 ท่อยิง
3.ระบบอาวุธนำวิถีพื้น-สู่-อากาศ Sea Sparrow 8 ท่อยิง
4.ระบบปราบเรือดำน้ำ Asroc แต่ถูกถอดออกแล้วแทนที่ด้วยแท่นยิงอาวุธนำวิถีแนวดิ่ง (VLS) Mk41 จำนวน 61 ท่อยิง บรรจุลูกอาวุธนำวิถีครุยส์ BGM-109 C Tomahawk แทน
5.ระบบตอร์ปิโด Mk46 6 ท่อยิง
6.ระบบปืนป้องกันระยะประชิด ฟาลังซ์ Mk15 จำนวน 2 ระบบ
7.เฮลิคอปเตอร์แบบ SH-60 Seahawk 2 เครื่อง
มีกำลังพล เป็นนายทหาร 19 นาย พลทหาร 315 นาย (เป็นเรือที่มีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการสูงเอาเรื่องเลยทีเดียว)
เธอผ่านภารกิจต่าง ๆ มาอย่างโชกโชน เดินทางรอบโลกเป็นว่าเล่น ไปมาหมดแล้ว ร่วมกับกองเรือบรรทุกเครื่องบิน ที่ 6 แห่งสหรัฐฯ (บ้านช่องไม่ค่อยอยู่ชอบเป็นตำรวจโลก) ในบทบาทเรือคุ้มกัน และภารกิจปราบเรือดำน้ำ
ในปี 1997 เธอได้รับการปรับปรุงใหม่ให้เป็นเรือสาธิตเทคโนโลยี (ทดลองใช้) ระบบเรด้าร์ AEMSS ย่อมาจาก Advanced Enclosed Mast/Sensor(AEM/S) System เป็นชุดของระบบเปลือกหุ้มเสาอากาศ ทำจากวัสดุผสม composite ที่มีคุณสมบัติพิเศษที่จะลดทอนการสะท้อนคลื่นเรดาร์จากเรือ/เครื่องบินของฝ่ายตรงข้าม โดยไม่ลดทอนความสามารถในการแพร่คลื่นสัญญาณของเรือเอง และเจ้าเปลือก ที่ว่ายังช่วยยืดอายุของเสาอากาศและระบบตรวจจับที่อยู่ภายในจากการกัดกร่อนของไอน้ำทะเลอีกด้วย
ระบบดังกล่าวได้ถูกทดสอบและปรับปรุงจนกระทั่งใช้งานได้จริงและเริ่มติดตั้งกับเรือ LPD ชุด San Antonio ในปี 2003 ครับ
ในปี 1999 เธอได้รับอุบัติเหตุระเบิดครั้งใหญ่เหนือแนวน้ำ แรงระเบิดทำให้ป้อมปืนใหญ่หัวเรือ และท่ออาวุธนำวิถีครุยส์โทมาฮอว์คได้รับความเสียหาย มีลูกเรือบาดเจ็บถึง 12 นาย (แม้แต่สหรัฐฯ ก็พลาดกันได้) ประมาณการกันว่าความเสียหายมีถึง 32.7 ล้านดอลล่าร์ (เท่ากับซื้อเอฟ 16 A ได้ 2 เครื่อง) แต่ก็ซ่อมแซมจนกลับมาเข้าประจำการได้อีกครั้ง
เธอถูกปลดประจำการเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2003 รวมเวลาในการรับใช้ชาติยาวนานถึง 26 ปี
มาถึงตัวโมเดลกันบ้าง ผมตามหาเรือลำนี้มานานมากครับ เคยเจอใน E-bay แต่ก็ไม่กล้าซื้อเนื่องจากไม่ชำนาญด้านธุรกรรมออนไลน์ จนเมื่อปี 2007 ดราก้อนได้นำเรือลำนี้ออกมาผลิตอีกครั้งผมจึงได้ซื้อไว้สมใจ ในราคา 580 บาท และดองเอาไว้ถึง 2 ปี กว่าจะงัดออกมาต่อกัน อิอิ
การต่อเรือทั้งหมดนั้น ดูได้ที่กระทู้นี้นะครับ ทำไว้หมดแล้ว
http://www.thaigundam.com/forum/index.php?topic=21795.0 ธงประมวล (Signal Flag) ที่ติดตั้งบนเรือลำนี้ไม่ได้ติดมั่ว ๆ นะครับ ผมติดผืนธงเข้าไป 4 ผืน แทนอักษร 4 ตัว เรียงจากบนลงล่าง คือ N A W R ซึ่งเป็นนามเรียกขานสากลของเรือลำนี้ครับ “เฮ้ย เรียงปลอกกระสุนให้ดีสิวะ เดี๋ยวต้นปืนเห็นเข้าไปฟ้องผู้การ เดี๋ยวก็ซวยกันหมดนี่หรอก”เป็นมินิไดโอราม่าเล็ก ๆ บนเรือลำนี้ครับ
ลองเทียบขนาดกับเรืออื่น ๆ ครับ ชั้น Spruance ใหญ่กว่ามาก
หนังสืออ้างอิงที่ใช้ รูปภาพประกอบในหนังสือช่วยได้เยอะเลยครับ ชัดเจนดีกว่าภาพใน internet อีก
หนังสืออ้างอิง 1. Sea power ( John Gresham & Ian Westwell) ปี 2008 2. Destroyer & Frigate
ท้ายที่สุดนี้หากไม่ได้บุคคลดังรายนามเบื้องล่าง เรือลำนี้คงมิอาจสำเร็จลงได้ครับ
1.พี่นายนาวา สำหรับข้อมูลเรื่อง AEMSS ครับ
2.พี่วิทย์ สำหรับวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ขาดเหลือครับ
3.น้าอาตมา สำหรับ PE บันไดเรือและ Metal Flex ครับ
4.น้า non สำหรับการสั่งซื้อ Decal มาให้ครับ
5.พี่แพนด้า สำหรับลำกล้องปืน MK 45 ขอบคุณมาก ๆ จริง ๆ ครับ
6.น้านีโอ ขอบคุณมากสำหรับหนังสือ Sea Power ที่ซื้อมาฝากจากมาเลเซียนะจ๊ะ มีประโยชน์มาก ๆ
และขอขอบคุณเพื่อนสมาชิกทุกท่านที่ติดตามชมครับ
ด้วยจิตคารวะ
ครูชนบท