สวัสดีครับ
วันนี้ขอนำเสนอโปรเจ็คสงครามเย็นอีกลำหนึ่ง อันจะไม่กล่าวถึงเธอก็คงไม่ได้ เพราะเธอคือเรือที่มีบทบาทมากในสงครามประสาทครั้งนี้ เธอคือเรือพิฆาต ชาร์ล เอฟ อดัมส์ นั่นเองครับ
USS. Charles F. Adams เป็นเรือพิฆาตพันธุ์แท้ เป็นเรือที่ได้รับการปรับปรุงมาจากเรือพิฆาตชั้น Forest Sherman มีพี่น้องทั้งสิ้น 29 ลำ ใช้งานใน 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 23 ลำ เยอรมัน 3 ลำ และออสเตรเลีย 3 ลำ เธอเป็นลำแรกของชั้น ได้รับการตั้งชื่อตาม Charles Fransis Adams ที่ 3 ซึ่งเป็นเลขานุการกองทัพเรือในปี 1929-1933 วางกระดูกงูเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 1958 ปล่อยเรือลงน้ำเมื่อวันที่ 8 กันยายน 1959 และขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ 10 กันยายน 1960
เธอมีสัดส่วนที่สวยงามและน่าเกรงขาม อันเป็นมนต์เสน่ห์ของประวัติศาสตร์ช่วงสงครามเย็น (ทั้ง ๆ ที่เรือในช่วงนี้ ต่างเร่งอัดเทคโนโลยีกันไม่ยั้ง และสร้างมาใช้งานจริง ๆ ความสวยงามไม่ค่อยแคร์เท่าไหร่) ยาวตลอดลำ 133 เมตร กว้าง 14 เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ 4,526 ตัน ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ของ General Electric 2 เครื่อง อัดแรงม้าเข้าไปถึง 7 หมื่นตัว ขับเพลาใบจักร 2 เพลา ซิ่งสุด ๆ ได้ความเร็วออกมาที่ 33 น๊อตเลยทีเดียว เร็วมาก ๆ มีระยะปฏิบัติการ 4,500 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 20 น๊อต (8,300 กม.) มีกำลังพลทั้งสิ้น 354 คน
ระบบเรด้าร์ไฮเทคสุด ๆ (ในสมัยนั้น) ประกอบไปด้วย เรด้าร์อากาศ 3 มิติ AN/SPS-39 3D เรด้าร์พื้นน้ำ AN/SPS-10 และที่เด็ดคือเจ้านี่ เรด้าร์ AN/SPG-51 มันคือเรด้าร์ควบคุมการยิงอาวุธนำวิถี (WWII สิ้นสุดไปแค่ 15 ปี มีจรวดนำวิถียิงกันแล้ว) และมีเรด้าร์ AN/SPG-53 ไว้ควบคุมการยิงปืน 5 นิ้วอีก 2 กระบอก นี่ยังไม่รวมโซนาร์ไว้ตรวจจับเรือดำน้ำอีกด้วย
ระบบอาวุธประกอบไปด้วย แท่นยิงอาวุธนำวิถีอเนกประสงค์ MK11 หรือ MK13 Single Arm สำหรับยิงอาวุธนำวิถีพื้น-สู่-อากาศ RIM-24 Tartar หรือ RIM 66 Standard หรือยิง RGM-84 Harpoon ก็ย่อมได้ มีปืนใหญ่เรือขนาด 127 มม. (5 นิ้ว) Mark 42 อีก 2 กระบอก (ควบคุมการยิงด้วยเรด้าร์นะจ๊ะ) บริเวณกลางลำยังติดแท่นยิงจรวดปราบเรือดำน้ำ ASROC อีก 1 แท่น ที่แปลกตาอีกอย่างหนึ่งคือ มีแท่นยิงตอร์ปิโดแฝดสาม MK32 สำหรับปราบเรือดำน้ำอยู่หน้าสะพานเดินเรืออีกสองแท่นยิง
ชีวิตเธอส่วนใหญ่ ป้วนเปี้ยนแถวทะเลแคริบเบี้ยน กับเดินทางรอบโลก เพราะเป็นช่วงที่อยู่ในสถานะสงครามเย็น กดดันกันไปมาระหว่างมะกันกับพี่หมี จนเธอปลดประจำการเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 1992 รวมเวลาในการรับใช้ชาติยาวนานถึง 32 ปี
ปัจจุบัน พี่น้องของเธอทุกลำ ล้วนแต่ลงไปเป็นบ้านปะการังเทียมกันหมดแล้ว หรือไม่ก็โดนเอาไปทำเป้าซ้อมยิง เหลือเธอนี่แหละที่มีประวัติยาวนาน แถมเป็นลำแรกของชั้น เลยถูกขึ้นบัญชีเอาไปทำเป็นพิพิธภัณฑ์ กำลังรอการซ่อมแซมอยู่คร๊าบบบ
ปัจจุบัน (ภาพเมื่อปี 2008)
จบประวัติ มาถึงโมกันบ้าง
ขอย้อนอดีตไปยี่สิบห้าปีที่แล้ว ผมรู้จักเธอครั้งแรกในหนังสือสมรภูมิ ด้วยรูปร่างที่ดุดัน อาวุธเพียบ พร้อมกับข่าวคราวหนาหูที่ว่า กองทัพเรือไทย ได้ทำการขอซื้อต่อเรือพิฆาตชั้นนี้จาก ทร.อเมริกา (แต่ก็ได้ ทร.มะกันจัดเรือชั้น Knox มาให้แทน) ทำให้ผมใฝ่ฝันที่จะหาเธอมาในครอบครองให้ได้ สมัยก่อน ยี่ห้อ Pit-road มีขายในร้านโมในกรุงเทพ แต่ผมก็ไม่มีปัญญาจะซื้อ ทั้งที่ค่าตัวเธอในสมัยนั้นไม่เกิน 300 บ. เท่านั้น
โมตัวนี้เป็นของ Dragon ซึ่งออกมาสองรุ่น นั่นคือรุ่นธรรมดา กับรุ่น Premium Edition ซึ่งตัวพรีเมียม จะแถม PE มาให้ด้วย กล่องที่ผมทำนี้เป็น Premium ให้ชิ้นส่วน PE มาค่อนข้างครบ (แต่ก็ไม่ครบ ต้องหาเพิ่ม) ตัวโมนั้น เป็นบล๊อคเดียวกันกับ Pit-Road ไม่ต้องสงสัย ต่อง่าย แต่ค่อนข้างมั่วดีเทล โดยเฉพาะเสาก๊าฟท์หลัก ดราก้อน (รวมไปถึงพิทโรด) มั่วนิ่มพอควร แต่บางทีก็อาจจะเป็นเพราะอยู่ในช่วงสงครามเย็นก็ได้ ทำให้เรือมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโดยตลอด ไม่ค่อยจะเหมือนกันสักกะลำนึง
ผมทำการขึ้นเสาก๊าฟท์ใหม่ โดยใช้เศษ PE ราวเรือช่วยตกแต่ง แต่ดราก้อนไม่ได้ให้ PE SPS/39 มาให้ โชคดีที่พี่ปื๊ดเคยทำ PE เรือสงครามโลกเลยเอามาใช้แทน (หน้าตามันคล้ายในรูปอ้างอิง) จากนั้นก็ติดโน่นติดนี่ คุณที่ยากที่สุดคือ เสาอากาศตรงป้อมปืนหน้า กว่าผมจะทำมันลงตัว ผมเสีย Metal Flex ไปถึง 6 ซม. (เพราะมันปลิวหาย) ของยิ่งหายากอยู่
จุดมั่วนิ่มสำคัญของผมเลยก็คือ ผมดันทำชิ้นส่วนของแท่นยิง MK11 (Twin Arm) หาย หาจากกล่องอื่นก็ไม่ได้ซะด้วย ทำให้ผมต้องมั่วไปใช้แท่นยิง MK13 (Single Arm)แทน ทั้ง ๆ ที่ของจริงนั้น DDG2-DDG14 จะใช้แท่นยิง MK11 ส่วนตั้งแต่ DDG-15 เป็นต้นไป ใช้แท่น MK13 ครับ
จากนั้น พ่นสีดาดฟ้าด้วยเบอร์ 13 สีตัวเรือด้วยเบอร์ 35 จากนั้นวอชเรือทั้งลำด้วย winsor เบอร์ 35 ก่อนเช็ดออกด้วย Enamel จากนั้นพ่นเคลียร์มันเบอร์ 46 ทับ 1 รอบ รอให้แห้ง จึงติด Decal ครับ จากนั้นรอให้แห้ง ก็พ่นเคลียร์มันเคลือบอีก 1 รอบ
จากนั้นก็ติดโน่นนิด นี่หน่อย ใส่คน เชือกธงประมวลผมใช้ PE ของ Rainbow เลย ทำให้ได้เชือกเส้นคู่ ก่อนนำไปเวทเธอริ่งด้วยสีน้ำมัน Winsor เบอร์ 34 (คราบสนิม) และเบอร์ 35 (คราบทะเล) เช็ดออกด้วยน้ำมันไฟแช็ค จากนั้นก็พ่นเคลียร์ด้านทับอีก 1 รอบ เป็นอันเสร็จสิ้นครับ
ภาพถ่ายชุดนี้ ออกจะทึม ๆ ไปนิดนึง เพราะใช้กล้อง Compact ถ่ายมา (กล้อง DSLR ไม่อยู่ครับ) อีกทั้งอากาศไม่เป็นใจเลย ฟ้าฝนลงทุกวัน แดดก็ไม่มี เลยได้เท่านี้ครับ
อ้อ แผ่นน้ำเทียมนั้น ผมไม่ได้ปั้นคลื่นนะครับ เอาสีอีนาเมลสีขาวดรายบรัชเป็นคลื่นเอาดื้อ ๆ เลย เพราะกะว่าใช้ถ่ายภาพเท่านั้น ไม่ได้ทำ Diorama ครับ
ท้ายนี้ขอขอบคุณ
1.พี่แพนด้า สำหรับ PE เชือกครับ
2.น้าหยก สำหรับเทคนิคคราบสนิม สุดยอดมาก
3.ป๋าวิทย์ สำหรับแหล่งวัสดุหยิบยืมครับ อิอิ
4.ท่านอาตมา สำหรับสายไฟเส้นเล็กไว้ทำเชือก
ยินดีน้อมรับคำติชมจากทุกท่าน
ขอบคุณทุกท่านที่มาเยี่ยมชม
ด้วยความคารวะ
ครูชนบท