สวัสดีครับ วันนี้ขอนำเสนอเรือจากกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นบ้าง (J.M.S.D.F.)
นั่นคือเรือตรวจการณ์ติดอาวุธปล่อยนำวิถีชั้น Hayabusa นั่นเองครับ
เรือชั้นนี้ จัดเป็นเรือตรวจการณ์ (PG) แต่เรี่องสมรรถนะแล้ว คนละเรื่อง เพราะมันคือ เรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถี (FAC) ดี ๆ นี่เอง ต่อออกมาใช้งานทั้งสิ้น 6 ลำ ได้แก่ PG 824 Hayabusa,PG 825 Wakataka,PG 826 Otaka,PG 827 Kumataka,PG 828 Umitaka และ PG 829 Shirataka
Hayabusa วางกระดูกงูเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ปี 2000 ปล่อยเรือลงน้ำเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2001 ขึ้นระวางประจำการในวันที่ 25 มีนาคม 2002 จะเห็นได้ว่า ใช้เวลาในการต่อตัวเรือเพียงแค่ 7 เดือนเท่านั้น รวมเวลาทั้งหมดในการสร้างไม่ถึงสองปี เรือมีระวางขับน้ำสูงสุด 240 ตัน มีความยาว 50.1 เมตรและกว้าง 8.4 เมตร ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ของ General electric LM 500-G07 จำนวน 3 เครื่อง ใช้ระบบ Pump-Jet (แรงดันน้ำ) ไร้ใบจักร (แล่นเขตน้ำตื้นสบาย) รีดความเร็วออกมาได้เบาะ ๆ อยู่ที่ 46 น๊อต
ระบบอาวุธไม่ธรรมดา ติดอาวุธนำวิถีพื้น-สู่-พื้น SSM 1 B (Type 90) ซึ่งดูดี ๆ มันก็คือ RGM-84 Harpoon ในเวอร์ชั่นญี่ปุ่นนั่นเอง ผลิตโดยบริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสทรี จำนวน 4 ท่อยิง ติดปืนใหญ่เรือขนาด 76 มม. (3 นิ้ว) ของ Oto Breda ที่หัวเรือ 1 กระบอก และปืนกล 127. มม. ที่บริเวณหลังสะพานเดินเรือข้างละ 1 กระบอก (รวม 2 กระบอก)
สำหรับโมตัวนี้ เป็นของ Aoshima ผู้ที่ผลิตโมเดลเรือออกมาเยอะ เรือชุดนี้อยู่ในชุด Water Line Series เวอร์ชั่นเรือรบญี่ปุ่น (บริษัทโมญี่ปุ่นนี่ ทำเรือรบของตัวเองขายมันซะทุกแบบจริง ๆ เขาภูมิใจในชาติเขามาก ซึ่งมันก็น่าภูมิใจจริง ๆ นะ) โมกล่องนี้ จัดเป็นชุดสุดคุ้มค่า เพราะให้มาทั้งสิ้น 2 ลำ ทำได้สองลำคือ Hayabusa และ Umitaka พร้อมทั้งยังยัด P-3 Orion ขนาด 1/700 มาให้อีกสองลำด้วย คุ้มจริง ๆ
ด้วยขนาดเรือยาวตลอดลำวัดออกมาได้ 8.5 ซม. ก็เรียกว่า ไม่เล็กเท่าไหร่ กำลังน่ารัก รายละเอียดส่วนใหญ่จัดว่า ดี (ไม่ถึงกับดีมาก) เพราะบางจุดยังไม่มีดีเทลมาให้ เช่น ลายเส้นข้างเรือ (ซึ่งควรจะมี) รายละเอียดของเสาก๊าฟท์ น้อยเกินไป รวมไปถึงระบบอาวุธนำวิถี ที่ทำรายละเอียดแท่นยิงมาไม่ได้เรื่อง (แต่ท่อยิงสวยมาก) ก็ต้องปรับปรุงกันหน่อย
แรกสุดเลย ผมจัดการเพิ่มรายละเอียดของตัวเรือด้วยเส้นพลาสติกลนไฟยืด ติดด้วยกาวฝาเขียวทามิย่าให้ดูมีมิติหน่อย จากนั้นก็ติดราวเรือ ที่เอาของ GMM มาใช้ เป็นราวเรือสองเส้น ติดให้รอบลำเลย
จากนั้นทำรายละเอียดของ Main Mast เสียใหม่ เพิ่มเหล็กค้ำ เพิ่มรายละเอียดเรด้าร์
จากนั้นมาขั้นตอนทำสี สีดาดฟ้าเรือ ผมใช้สี Mr.Color เบอร์ 13 พ่นเป็นสีพื้นเหล็ก อันที่จริง ใบต่อของอาโอชิม่า มั่วมาก สีที่ให้มาใช้ไม่ได้เลย (ให้ใช้เบอร์ 32 ทั้งลำ ผมพ่นแล้ว มันไม่ใช่) ผมเลยต้องไปดาวน์โหลดใบต่อของ Hasegawa มาแทน สรุปก็คือ สีตัวเรือใช้สีเบอร์ 307 90%+ 33 10% ค่อยเหมือนหน่อย เวลาผสม ไม่ต้องเยอะนะครับ เรือลำนิดเดียว
จากนั้นพ่นเคลียร์มันทับรอบนึง แล้วติดดีคอล ผมเลือกทำเบอร์ 824 Hayabusa เลย เพราะชอบชื่อนี้ จากนั้นรอให้แห้ง พ่นเคลียร์ด้านทับอีกรอบนึง จากนั้นก็เก็บรายละเอียดพวกเสาอากาศ สายสลิง เชือกโยงต่าง ๆ เป็นอันเสร็จครับ ใช้เวลาทำเฉพาะตอนพักสายตาจากเรือใหญ่วันละประมาณ 1 ชม. รวมเวลาทั้งสิ้น 6 วันครับ
ท้ายนี้ขอขอบคุณ
1. น้านีโอ ช่วยจุดประกายเรือญี่ปุ่นมาให้ อันที่จริงผมก็ชอบนะ แต่ชอบอย่างอื่นของญี่ปุ่นมากกว่า อิอิ
2. พี่วิทย์ เรื่องข้อมูลเรือครับ
ยินดีน้อมรับคำติชมจากทุกท่านครับ
ด้วยความคารวะ
ครูชนบท