ผู้เขียน หัวข้อ: 100% USS.Newjersey BB-62 1/700 ครับ  (อ่าน 11291 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ kp505si

  • Verified User
  • ลองพ่นแอร์บรัช
  • *
  • กระทู้: 573
  • Like: 65
    • www.thaimsot.com
100% USS.Newjersey BB-62 1/700 ครับ
« เมื่อ: พฤษภาคม 12, 2012, 01:12:30 PM »
เหลือเรือชั้นนี้ในบ้านอยู่อีก 1 ลำคือ USS.Newjersey ลำนี้ หน้ากล่องเป็น Missouri แต่สลับชื่อกันนะครับ เพราะ Missouri ทำไปแล้วในกระทู้ WIP ครั้งก่อน



เอาล่ะ มาดูข้อมูลเรือลำนี้กันสักหน่อย เล่นเรือให้สนุก ต้องอ่านประวัติให้ซึมถึงเส้นเลือด แล้วมันจะทำเรือได้แบบมีจิตวิญญาณ 5 5 5

USS.Newjersey (BB62) เป็นเรือประจัญบานชั้น IOWA มีพี่น้องทั้งหมด 4 ลำ คือ IOWA, Newjersey, Missouri และ Wisconsin โดยการตั้งชือตามชื่อมลรัฐ ในประเทศสหรัฐอเมริกา เรือชุดนี้ สร้างขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

คำสั่งสร้างเธอมีขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม คศ. 1939 ท่ามกลางควันสงครามที่เริ่มคุกรุ่นตะหงิด ๆ ในแถบทวีปยุโรป เนื่องจากเจอรมันเริ่มขยับ อังกฤษเริ่มจะแลกหมัด อเมริกาก็ต้องป้องกันไว้ก่อนด้วยการสร้างกำลังทางเรือเข้าไป

นิวเจอร์ซี่ วางกระดูกงูเมื่อวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1940 ปล่อยเรือลงน้ำวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1942 ใช้เวลาสร้างไม่ถึง 3 ปี (ไม่น่าเชื่อ) ขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1943 อยู่ในช่วงกลาง ๆ สงครามโลกครั้งที่สองพอดี

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้น นิวเจอร์ซี่อยู่สังกัดกองเรือที่ 5 ภายใต้บังคับบัญชาของนายพลเรือสปรูแอนซ์ (Admiral Raymond A. Spruance) รับผิดชอบห้วงมหาสมุทรแอตแลนติกตะวันตกจนถึงทะเลแคริบเบียน แถมเป็นเรือธง (เรือบังคับบัญชา) อีกต่างหาก

จากนั้นก็ย้ายไปสังกัดกองเรือที่ 3 ของนายพลเรือฮัสซี (Admiral William Halsey) ใครดู Tora Tora Tora จะได้ยินชือนี้บ่อยตอนถล่มเพิร์ลฮาร์เบอร์ ไปป้วนเปี้ยนแถวฟิลิปปินส์ อยู่แถว ๆ อ่าวเลเต้ และก็ถึงคราวเปลี่ยนผู้บังคับกองเรือมาเป็น ของนายพลเรือเชสเตอร์ นิมิตซ์ (คุ้น ๆ กันไหม)

ท้ายสงคราม ดันไปอยู่กองเรือประจัญบานที่ 7 ของนายพลเรือแบดเจอร์ จนสิ้นสุดสงคราม

หลังสงคราม นิวเจอร์ซี่ และพี่น้อง เริ่มจะเป็นส่วนเกินในกองทัพเรือสหรัฐฯ เนื่องจากใหญ่โต ปืนใหญ่เกินเหตุ ใช้กำลังพลมาก (ค่าเบี้ยเลี้ยงเยอะนั่นเอง) ในที่สุด ทร.แยงกี้ ก็แยกทางกับพวกเธอพี่น้อง สั่งปลดประจำการหลังฝืนทนใช้ (ค่าใช้จ่ายแพง เรือไม่ได้เก่า) ไปได้อีก 5 ปี เธอโดนปลดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 1948

ช่วงสงครามเกาหลี

หลังจากปลดประจำการโดยการเอาไปจอดร้อยเหงือกกับพี่น้องเสียสองปี เมื่อสงครามบนคาบสมุทรเกาหลีปะทุขึ้น สี่พี่น้องโดนเรียกเข้าประจำการอีกครั้งหนึง เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 1950 เอาไปลุยเกาหลี  จนสิ้นสงคราม ปลดประจำการเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 1957

กลับมาอีกรอบ คราวสงครามเวียตนาม

และแล้ว มะกันก็ต้องเรียกใช้เธออีกรอบ เนื่องจากเกิดกระแสคอมมิวนิสต์ชักจะแรงจัดลามไปกลายเป็นสงครามเวียตนาม มะกันก็ขึ้นประจำการเธออีกรอบ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 1968 ไปลุยเวียตนามอีกสองปี คราวนี้ปลดประจำการอีกรอบ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 1969

การกลับมาครั้งสุดท้าย สงครามเย็น และสงครามพายุทะเลทราย

วันที่ 28 พฤศจิกายน 1982 นิวเจอร์ซี่และพี่น้อง กลับมาอีกครั้ง ด้วยไอเดียของประธานาธิบดี โรแนล เรแกน ด้วยการปรับปรุงใหม่หมดทั้งลำจนเธอกลายเป็นเรือโมเดิร์นสมบูรณ์แบบ ระบบอาวุธทันสมัยถูกอัดแน่นจนไม่มีที่จะวาง ประกอบไปด้วย

ของเก่า
ปืน 16 นิ้ว มาร์ค 7 จำนวน 3 ป้อม 9 กระบอก แต่แถมมาด้วยระบบควบคุมการยิงใหม่ ใช้เรด้าร์ยิง ทำให้ระยะยิงไกลสุด. แถมแม่นเหมือนจับวาง ติดที่ว่ายิงช้าไปหน่อย ราว ๆ นาทีละ 2 นัด แต่มันมีหลายกระบอก ดังนั้น ไม่ใช่ปัญหา

ปืน 5 นิ้ว แท่นคู่ 6 แท่น ระบบควบคุมการยิงใหม่อีกเช่นกัน

ของใหม่
ระบบปืนป้องกันระยะประชุดฟาลังซ์ 4 แท่น
อาวุธนำวิถีครุยส์ BGM -109 Tomahawk จำนวน 32 ท่อยิง
อาวุธนำวิถีพื้น-สู่-พื้น AGM-84 Harpoon จำนวน 16 ท่อยิง
เป้าลวงอาวุธนำวิถีอีกเพียบ
ท้ายเรือดัดแปลงเป็นดาดฟ้าลานจอด ฮ. ได้อีก 2 เครื่อง
มีระบบ UNREP (Underway replenishment) สำหรับจ่ายน้ำมันให้เรืออื่นได้อีกต่างหาก

แค่นี้ก็แทบจะครองโลกแล้ว ยังไม่นับระบบเรด้าร์อันทันสมัยอีกต่างหาก

ท้ายสุด เธอถูกปลดประจำการ หลังจากระบายอารมณ์ในอ่าวเปอร์เซีย เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1991 ยุติการรับใช้ชาติอันยาวนาน

สเปคของเธอ เนื่องจากเป็นเรือประจัญบาน ขนาดจึงบิ๊กเบิ้ม เธอยาวตลอดลำ 270.54 เมตร กว้าง 33 เมตร กินน้ำลึก 8 เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ 45,000 ตัน ความเร็วสูงสุด 33 น๊อต

โอย ประวัติยาวเหลือเกิน นี่เขียนแบบย่อ ๆ นะครับ เดี๋ยวมาดูตัวโมกัน


เนื่องจากเรือลำนี้ เป็นเรือ Missouri แต่รูปลอกผมเหลือแต่ Newjersey ดังนั้นจึงต้องทำนิวเจอร์ซี่ไป ภายนอกแทบจะเหมือนกันทุกประการเลยทีเดียว

 

ตัวเรือแบ่งออกเป็น 2 ชิ้น คือ ตัวเรือส่วนเหนือแนวน้ำ และท้องเรือ สามารถเลือกทำแบบเต็มลำ (Full Hull) หรือแบบแนวน้ำ (Water Line) ได้

ดาดฟ้าแบ่งออกเป็น 3 ชิ้น สิ่งที่น่าหนักใจคือ รอยต่อที่ใหญ่มโหฬาร ทั้ง ๆ ที่รายละเอียดออกจะสวย แต่จุดด้อยก็มี คือ ลายไม้กระดาน ใหญ่มาก ๆ ประมาณท่อนซุง 20 คนโอบเลยทีเดียว

รายละเอียดชิ้นส่วนจัดว่าดี เพราะเป็นโมบล๊อคเดียวกับ Pit-road แต่เสียที่ว่า แตรเป็นคนทำ ทำให้ชิ้นส่วนออกอาการไม่คมคายเท่าที่ควร มีหล่อขาด ๆ เกิน ๆ มาบ้าง ซึ่งพิทโรด จะแทบไม่พบปัญหานี้ (จึงไม่ให้ทำไง อิอิ)

ป้อมปืนสวยกว่าทามิย่าซะอีก

อัพเดทงานจ้า

ทำไมผมสังหรณ์ใจว่า ลำนี้ มันจะสวยกว่าลำที่ไปซีคอนฯ หว่า หรือคิดไปเองน๊า  :D


งานหลักก็คือประกอบตัวเรือและตัดชิันส่วนเตรียมการทำสี



ในส่วนเสาก๊าฟท์หลัก ใช้ราวเรือมาตกแต่งเพื่อความสมจริง แต่เป็นราวเรือยี่ห้อ GMM อิอิ



ชิ้นส่วนอื่น ตัดแยกไว้เตรียมทำสี อะไรที่ต้องประกอบเข้าด้วยกัน ก็ทำเสียในขั้นตอนนี้เลย



RGM 84 A Harpoon ทั้งหมด ประกอบเอาไว้แบบนี้เลย หยิบจับง่าย ทำสีให้เสร็จก่อนแล้วค่อยตัดไปติด



อาวุธต่าง ๆ เอาพาตาฟิกซ์ ติดไว้ข้างใต้ ทำสีครั้งเดียวกันเลยครับ ประหยัดเวลา ลำนี้แจ๋วตรงที่แท่นยิง Tomahawk สามารถเปิดและโชว์ตัวอาวุธนำวิถีได้ ก็จัดการทำให้มันเปิดทุกแท่นเลย อิอิ



หลังจากรองพื้นแล้ว ก็พ่นสีดาดฟ้าลานจอด ฮ. ด้วยสีเบอร์ 301



หัวเรือพ่นเบอร์ 13 โซ่สมอไม่ต้องทำอะไร เพราะใช้พีอีไม่ได้ โชคดีที่มันสวยอยู่แล้ว



มีเทคนิคนิดหน่อยมานำเสนอสมาชิกที่หัดต่อโมเรือเป็นครั้งแรก หรือมือใหม่จริง ๆ เลย นั่นคือ ....

ไม้จิ้มฟันจ้า



กระปุกเล็ก ๆ แต่มีนับร้อยก้าน เอามาทำได้สารพัดประโยชน์ คนสีก็ได้ ทิ้งก็ไม่เสียดาย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อิอิ

ที่จะนำเสนอวันนี้ คือ ทำที่จับชิ้นงาน

เอามาตัดปลายออกนิดนึง ส่วนปลายแหลมก็ทิ้งถังขยะไปซะ



เอาปลายด้านที่ตัด จุ่มกาวตราช้างบาง ๆ แล้วติดไปตรงส่วนของชิ้นงานที่ไม่ได้ทำสี เช่น ส่วนใต้ด้านใน



จับสะดวกขึ้นเป็นกอง



หรือไม่ก็ดินน้ำมันสารพัดประโยชน์ อย่าง patafix ยี่ห้อ UHU ที่ชาวโมชอบใช้



ติดเสร็จแล้ว พ่นสีสะดวกนัก



เทคนิคการทำโมเดล มีมากมายหลายวิธี โมเรือ อาจจะไม่จำเป็นต้องประกอบให้เสร็จทั้งลำแล้วก็พ่นสีก็ได้ ทำสีเป็นส่วน ๆ แล้วเอามาติดทีหลัง ก็สะดวกดี

ชิ้นงานที่เสียบไม้จิ้มฟันหมดแล้ว พร้อมทำสี สะดวกดี

update กันหน่อย

ช่วงนี้เดินทาง ตจว. บ่อย ก็ตัดเอาแผงที่คิดว่าพอทำได้ ใส่กล่องติดรถไปทำด้วย จะได้ไม่เสียเวลา

จัดการกับลูก อวป. โทมาฮอว์ค

จับมาใส่แท่นยิงซะ เรือลำนี้มีทั้งหมด 8 แท่นยิง มีชิ้นส่วนแท่นละ 5 ชิ้น สรุปก็คือ เฉพาะโทมาฮอว์คอย่างเดียว ปาเข้าไป 40 ชิ้น

ต่อไปนี้เป็นเทคนิคการทำสีดาดฟ้าเรือ อันนี้สำหรับมือใหม่เท่านั้น

ผมเอาภาพขยายของใบต่อดาดฟ้าเรือจากทามิย่ามาให้ดูครับ สังเกตดูดี ๆ ดาดฟ้าเรือประกอบไปด้วยสีทั้งหมดกี่สี (สีกันเซ่ทั้งหมด)

1. สีดาดฟ้าไม้ เบอร์ 44
2. สีลานจอด ฮ. เบอร์ 301
3. สีดาดฟ้าท้าย หน้าลานจอด ฮ. เบอร์ 31
4. สีดาดฟ้าเหล็กทั่วไป เบอร์ 13
5. สีหัวเรือตรงบริเวณเหล็กรองโซ่สมอ เบอร์ 28 โซ่สมอก็สีเดียวกัน



จะเห็นได้ว่า ใช้สี 5 สี เวลาทำก็ต้องพ่นไปทีละอย่าง แล้วทยอยกันเทปไปเรื่อย ๆ

ดังตัวอย่าง ผมพ่นลานจอด ฮ. ก่อน แล้วก็พ่นสีดาดฟ้าเหล็ก จากนั้นก็กันเทปเอาไว้ คราวต่อไปค่อยพ่นสีส่วนอื่น

แนะนำว่า เทปกาวที่ใช้ ควรจะใช้ทามิย่าในการบังเทป เพราะกาวจะไม่เยิ้มเมื่อทิ้งเอาไว้หลาย ๆ วันครับ



อีกหลักสูตรหนึงสำหรับมือใหม่คือ

การทำงานบนนิ้วมือครับ การจับชิ้นส่วนนั้น บางทีชิ้นส่วนอยู่บนพื้น แต่เอาปากคีบที่มีลักษณะเรียวยาวไปจับ บางครั้ง มันจับไม่อยู่ ทำให้ชิ้นส่วนกระเด็ดหายไปได้ ค่อย ๆ ใช้นิ้วมือจับชิ้นส่วนขึ้นมา แล้วเอาปากคีบจับให้ถนัด แล้วค่อยเอาไปติด

บางครั้งมือข้างเดียว ก็จับได้หลายชิ้นนะครับ เช่นการทำป้อมปืน ปตอ. เนี๊ยะ ใช้บ่อย

อุปกรณ์สำคัญคือ

ปากคีบครับ ปากคีบเนี๊ยะ ไม่ต้องแพง ไม่ต้องใช้ของทามิย่าอันละหลายร้อยก็ได้ ตามตลาดนัด พวกแผนกเครื่องใช้ผู้หญิงเนี๊ยะ มีเยอะครับ อย่างของผมอันละ 20 บ. สุดคุ้มใช้ตั้งแต่จับชิ้นส่วนไปจนถึงติดรูปลอก

ข้อควรระวัง อย่าให้หล่นพื้นเชียว ถ้าหล่นโดยเฉพาะเอาปากหล่นลงไป ปากของปากคีบจะบิ่น งอ ใช้การไม่เหมือนเดิม ต้องระวัง

มาอัพเดทงานกันต่อ ตอนนี้เร่งทำให้เสร็จก่อนเปิดเทอม เดี๋ยวงานหลวงจะไหลเข้ามาอีกเพียบ

วันนี้ว่ากันในส่วนของป้อมปืนครับ สิ่งที่ต้องทำสำหรับเรือลำนี้มีสองอย่างคือ

1. ป้อมปืน 2. ลำกล้อง

ป้อมปืนนั้น ไม่ต้องไปทำอะไรมากมาย เพราะลายเส้นคมชัีดสวยอยู่แล้ว

ส่วนลำกล้องปืนนั้น ลำกล้องพลาสติก บางทีมันก็ไม่สวย แต่จะซื้อลำกล้องทองเหลืองมาใส่ ก็แพงได้ใจ ดังนั้น ถ้าไม่ใส่ลำกล้องทองเหลือง สิ่งที่ควรจะต้องมีประจำบ้านไว้คือ สว่านจิ๋ว ครับ อันในภาพ ผมสั่งซื้อมาจากเวบฮ่องกง แต่บ้านเราสามารถหาซื้อได้ตามคลองถม อันละไม่กี่บาทเอง ซื้อแล้วก็ซื้อดอกสว่านมาด้วยเลย



เอาไว้ทำอะไร

เอาไว้เจาะลำกล้อง ผมใช้ดอกสว่านขนาด 0.1 มม. เจาะลำกล้องปืนทั้ง 9 กระบอก ออกมาดังภาพ แล้วค่อยเอาคัตเตอร์ปาดปากลำกล้องให้เรียบสวยงาม



จากนั้นลงสีลำกล้อง สีที่ใช้มี 3 สี คือ ส่วนของผ้าใบโล่ปืน ใช้สีดำเบอร์ 33 ฐานลำกล้อง สีเบอร์ 28 และส่วนลำกล้องใช้เบอร์ 35



ประกอบปืนทั้งหมด



จากนั้น ก็มาทำสีดาดฟ้ากันต่อ หลังจากเมื่อวาน พ่นสีดาดฟ้าที่เป็นเหล็กหมดแล้ว เอาเทปกาวกันพื้นที่เอาไว้ แล้วพ่นสีดาดฟ้าไม้ ดาดฟ้าไม้ผมใช้สี TAN เบอร์ 44 พ่น แล้วเอาสีเบอร์ 43 ผสมเบอร์ 44 นิดหน่อย พ่นไล่เป็นหย่อม ๆ บางจุด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 20, 2012, 09:46:26 PM โดย kp505si »

ออฟไลน์ kp505si

  • Verified User
  • ลองพ่นแอร์บรัช
  • *
  • กระทู้: 573
  • Like: 65
    • www.thaimsot.com
Re: 90% USS.Newjersey BB-62 1/700 ครับ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤษภาคม 15, 2012, 05:07:17 PM »
อัพเดทต่อนิดนึง

สำหรับมือใหม่ที่กำลังเหนื่อยกับการกันเทป

จะบอกว่า ก็ต้องกันเทปกันต่อไปครับ อิอิ คือเทคนิคเวลากันเทป เวลาเจอมุมเหลี่ยม หรือแท่นปืนกลม ๆ มันกันยาก

เทคนิคมีนิดเดียวคือ ต้องตัดเทปเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ กันไปเรื่อย ๆ จนรอบ และให้กันจากขอบเข้าไปหาพื้นที่ด้านใน จนเป็นอย่างในภาพ

ที่สำคัญ ต้องใจเย็น ๆ นะครับ ถ้าเบื่อ หรือเหนื่อย ให้หยุดก่อน อย่าฝืนทำต่อ เดี๋ยวเครียดครับ

อย่างดาดฟ้าเรือประจัญบานปกติทำแบบชิว ๆ ทำบ้างหยุดบ้าง ทำงานประจำบ้าง ก็จะใช้เวลาราว ๆ 4 วันครับ อย่างลำนี้ทำวันละ 1.5 ชม.



อัพเดทกันต่อ

และแล้ววันที่รอคอยก็มาถึง

หลังจากกันเทปเสร็จแล้ว ผมก็พ่นสีตัวเรือเบอร์ 35 จนหมด จากนั้นก็ค่อย ๆ แกะเทปออกทั้งลำ

เอาสีอีนาเมลทามิย่า ทำการวอชลายเส้นไม้บนดาดฟ้าเสียหน่อยครับ



เช็ดสีออกด้วยคัตตอนบัต จุ่มน้ำมันไฟแช็ครอนสันครับ

ทำการติดดีคอลทั้งลำ เรือนี่สบายหน่อย ดีคอลไม่เยอะ แต่ชิ้นเล็กหน่อย



ใกล้ความจริงแล้วครับพี่น้อง

ออฟไลน์ JinBikeR

  • กัน-โอตะ
  • *****
  • กระทู้: 1,039
  • Like: 162
  • เพศ: ชาย
  • สำนักพู่กัน !!
Re: 90% USS.Newjersey BB-62 1/700 ครับ
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: พฤษภาคม 15, 2012, 06:20:04 PM »
สุดยอดเลยครับครู ติดตามดูอยู่เรื่อยๆ ได้เทคนิคต่อเรือสำหรับมือใหม่ด้วย อยากจะบอกว่าไม้จิ้มฟันติดกาวตราช้างนี้ผมก็ใช้ตอนทำสเกลไบค์เหมือนกันฮะ  :iconlol:
1/350 ที่ดองอยู่ของผม คงจะได้ทำซักวันล่ะนะ แต่ผมสายพู่กันคงจะไม่ไหวล่ะมั้ง สงสัยต้องถอยแอร์บรัช  :iconcry:

ออฟไลน์ kp505si

  • Verified User
  • ลองพ่นแอร์บรัช
  • *
  • กระทู้: 573
  • Like: 65
    • www.thaimsot.com
Re: 90% USS.Newjersey BB-62 1/700 ครับ
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: พฤษภาคม 19, 2012, 07:16:11 AM »
อัพเดทต่อ ใกล้จะจบงานแล้วครับ

มาทำ UNREP (Underway replenishment) หรือท่อเติมเชื้อเพลิงกลางทะเลกันครับ

เนื่องจากว่า GMM ทำชุดแต่งออกมาขาย แต่สำหรับกิจกรรม oob ใช้ไม่ได้ เราก็ต้องมาหาสิ่งใกล้ตัวกัน

นั่นคือ ลวดนิโครม ที่นัำกเรียนใช้ทำการฝีมือ ผมแอบจิ๊กมาหน่อยนึง เอามาดัด ดังภาพ



ทำสีดำแล้วติดเข้าไป ใกล้เคียงเลยนะเนี๊ยะ อิอิ



จากนั้นก็เริ่มติดราวเรือบนสะพานเดินเรือ โดยเริ่มติดจากส่วนที่ลึกที่สุด และอยู่ล่างที่สุดขึ้นมาเรื่อย ๆ เพื่อที่จะได้ง่ายต่อการหยิบจับ แต่เว้นในส่วนของดาดฟ้าเอาไว้ก่อน เพราะเราจับเรือพลิกไปมา อาจจะโดนเสียหายได้ เอาไว้ติดทีหลังสุด



ชิ้นส่วนใดที่มีราวเรืออยู่ ก็ติดเสียให้เรียบร้อยก่อนประกอบเข้าไป จะได้ง่ายขึ้น



เมื่อขึ้นถึง Main mast (เสาก๊าฟท์) อันนี้ผมติดเชือกธงโดยทันที เพราะเดี๋ยวมาติดทีหลังจะวุ่นวาย ผมใช้พลาสติกทามิย่า ลนไฟยืดเป็นเส้นแล้วติด โดยติดให้ยาวไว้ก่อน เดี๋ยวมาตัดทีหลัง

ออฟไลน์ kp505si

  • Verified User
  • ลองพ่นแอร์บรัช
  • *
  • กระทู้: 573
  • Like: 65
    • www.thaimsot.com
Re: 100% USS.Newjersey BB-62 1/700 ครับ
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: พฤษภาคม 20, 2012, 09:47:14 PM »
มาอัพเดทต่อครับ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายแล้ว

ผมทำการขึงสายอากาศ UHF ด้วย Metal Flax หรือลวดตกปลาเบอร์เล็ก ซึ่งเป็นของที่ชาวเรือส่วนใหญ่ต้องหามาไว้ในครอบครอง



เมื่อสองปีก่อน เป็นของใหม่อันน่าตื่นตาตื่นใจ ด้วยสนนราคาเมตรละเกือบ 130 บ. แถมหาซื้อได้ในญี่ปุ่นเท่านั้น

สิ่งที่เมทัลเฟล็คทำได้ดีกว่าวัสดุอื่น คือ มันสามารถทำให้หย่อนตกท้องช้างได้โดยง่าย แต่ด้วยราคาที่แพง หายาก การตัดมาใช้งาน จึงควรวัดขนาดให้ชัวร์จริง ๆ ก่อน



แต่ถึงแม้ไม่มี Metal flex เราก็สามารถใช้พลาสติกลนไฟยืดมาใช้แทนได้ ไม่จำเป็นจะต้องใช้เมทัลเฟล็คเสมอไป สำหรับผมเองนั้น ถ้ามีก็ใช้ ถ้าไม่มี ก็ใช้พลาสติกยืดแทนได้ ไม่ซีเรียส



เสร็จเรียบร้อยครับ เอาไปพ่นเคลียร์ด้านก็จบงานแล้ว

สองลำ ชั้นเดียวกัน ปีเดียวกัน เอามาวางคู่กัน ระหว่างลำหนึ่ง Tamiya ติด PE เต็มพิกัด กับอีกลำหนึ่ง Trumpeter ใช้แค่ราวเรือเท่านั้น ดูแทบไม่ต่างกันเลย ถ้าไม่สังเกตจริง ๆ



เรือของ Trumpeter ได้เปรียบตรงที่ เป็นเรือบล๊อคเดียวกับยี่ห้อ Pit-road เจ้าพ่อโมเดลเรือหมายเลข 1 ของโลกที่ทุกคนยอมรับ (ถึงแม้การประกอบจะทำได้ไม่ดีเท่า และชิ้นส่วนงานไม่ค่อยคมเท่าที่ควร) รายละเอียดของเรือจึงสูง หากยอมแลกกับความเหนื่อยล้าและเวลาที่เสียไป (มากกว่า pit-road ใน class เดียวกัน) ก็ถือว่าคุ้มค่า





บทสรุปของเรือชั้น IOWA Modern สเกล 1/700 ระหว่าง Tamiya และ Trumpeter

ถ้าชอบเรือที่ประกอบง่าย ลงตัวเป๊ะ ๆ รายละเอียดสวยงาม เลือกทามิย่า

ถ้าชอบเรือที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนเยอะ ไม่ค่อยลงตัวนัก ต้องมาขัดเกลาพอสมควร รายละเอียดสูงมาก ราคาถูกกว่า เลือก Trumpeter ครับ

เดี๋ยวรอให้ฟ้าเปิดแสงดี ๆ ก่อน เดี๋ยวจัดฉากถ่ายภาพกันใหม่อีกครั้งครับ ตอนนี้ฝนตกทุกวันเลย

เย้... เสร็จแล้ว จะได้ลุยลำอื่น อิอิ  :D